นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าว่า ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตอนที่มีความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดูแลจะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด ทั้งนี้ สาเหตุการอ่อนค่าของเงินบาทนั้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าแล้วราว 12% ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
“ธปท.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตอนที่ความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไม่อยากเห็นความผันผวนที่สูงเกินไป แต่การดูแลจะต้องไม่ฝืนทิศทางตลาด เพราะรู้ว่าคงฝืนไม่ได้ และไม่เหมาะสม อีกทั้งเราไม่ได้ใช้นโยบายกำหนดค่าอัตราแลกเปลี่ยน และไทยเองเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 2540 มาแล้ว ธปท. เองไม่ได้มีระดับในใจว่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่เท่าไหร่ แต่สิ่งที่ ธปท.ดูคือไม่ให้เกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และไม่มีผลต่อเสถียรภาพมากนัก โดยปัจจุบันไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนการเคลื่อนย้ายของเงินทุนในปัจจุบันนั้นยังไม่มีอะไรที่น่าเป็นกังวล โดยพบว่ายังเป็นการไหลเข้าสุทธิอยู่”
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ส่วนภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยนั้น ยอมรับว่าอาจจะส่งผลกระทบกับการส่งออก โดยล่าสุด ธปท.ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3.3% ขณะที่ปี 2566 ที่ระดับ 3.8% ซึ่งรวมสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น